Monday, October 10, 2011

ใช้งานคอมพิวเตอร์แบบรีโมทจาก Google Chrome ด้วย Chrome Remote Desktop

โดยทั่วไปแล้วการใช้งานแบบรีโมทเดสก์ท็อป (Remote Desktop) ส่วนใหญ่แล้วจะใช้โปรแกรมแบบ Desktop Client อย่างเช่น Remote Desktop Services ที่ไมโครซอฟท์ให้มาพร้อมกับ Windows หรือบางคนก็จะใช้โปรแกรมแบบเธิร์ดปาร์ตี้อย่าง TeamViewer หรือ VNC เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันมีโปรแกรมสำหรับใช้ในการทำงานแบบรีโมทผ่านทางเว็บเบราเซอร์ให้เลือกใช้งานหลายตัว รวมถึงโปรแกรมส่วนขยาย (Extension) ของ Google Chrome ที่ชื่อ Chrome Remote Desktop ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเวอร์ชัน Beta โดยรีลีสล่าสุดคือเวอร์ชัน 1.2.20109.8300 ออกเมื่อ 7 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา

Chrome Remote Desktop Beta สามารถใช้รีโมทแอคเซสไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านทาง Google Chrome หรือ Chromebook ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถแชร์หรือเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ โปรแกรมใช้การตรวจสอบตัวตนโดยการใช้รหัสผ่านแบบ one-time authentication code ทำให้เฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์เท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ และทราฟิกทั้งหมดจะถูกเข้ารหัสข้อมูลจึงมั่นใจได้เรื่องความปลอดภัย

Chrome Remote Desktop Beta นั้นเหมาะกับการใช้งานในลักษณะ IT Help Desk เพื่อให้ทีมไอทีช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ที่มีปัญหาในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมแอพพลิเคชันแบบรีโมทในลักษณะเดียวกับ Windows Remote Assistance ใน Windows 7 อย่างไรก็ตามในเวอร์ชันเบต้านั้นยังไม่รองรับการใช้งานในลักษณะการเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองแบบรีโมท โดยผู้พัฒนามีแผนที่จะเพิ่มคุณสมบัตินี้ในรีลีสถัดไปที่จะออกในอนาคตต่อไป

Chrome Remote Desktop BETA เป็นแบบ fully cross-platform สามารถรองรับทำงานทุกระบบปฏิบัติการที่รองรับที่รองรับ Google Chrome ทั้ง Windows, Linux, Mac และ Chromebook สามารถทำการติดตั้งผ่านทาง Chrome web store โดยใช้ Google Chrome เปิดไปที่เว็บไซต์ https://chrome.google.com/webstore/detail/gbchcmhmhahfdphkhkmpfmihenigjmpp (ต้องไซน์อินด้วย Google Account) จากนั้นให้จากนั้นให้ทำการติดตั้งโดยการคลิกปุ่ม Add to Chrome ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1

หลังจากทำการติดตั้ง Chrome Remote Desktop BETA เสร็จแล้วจะปรากฏไอคอนลักษณะดังรูปที่ 2 (ถ้าไม่ปรากฏไอคอนให้คลิกเปิดแท็บใหม่)

รูปที่ 2

ทำการรัน Chrome Remote Desktop Beta โดยการดับเบิลคลิกเม้าส์บนไอคอนดังรูปที่ 2 จะได้หน้าต่างลักษณะดังรูปที่ 3 จากนั้นให้ป้อน Access code ซึ่งเป็นตัวเลข 12 หลัก (ต้องขอจาก Access code จากเจ้าของเครื่องปลายทาง) ในกรณีที่ต้องการแชร์เครื่องคอมพิวเตอร์ให้คลิกลิงก์ Share this computer แล้วดำเนินการตามคำสั่งบนจอภาพจนแล้วเสร็จ

หมายเหตุ: ผู้เขียนไม่ได้ทดสอบการใช้งานเนื่องจากติดปัญหาเรื่องพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์

รูปที่ 3

นอกจาก Chrome Remote Desktop Beta แลัวยังมีโปรแกรมสำหรับใช้ในการทำงานแบบรีโมทผ่านทางเว็บเบราเซอร์ที่น่าสนใจหลายตัว อย่างเช่น ThinVNC หรือ AccessNow ที่แนะนำไปก่อนหน้านี้ เป็นต้น

บทความโดย: Thai Windows Administrator Blog

Copyright © 2011 TWA Blog. All Rights Reserved.

0 Comment: