14 กันยายน 2554: VMware ออก VMware Workstation 8.0 Build 471780 ซึ่งเป็นการอัพเดทเมเจอร์เวอร์ชันในรอบเกือบ 2 ปี (VMware Workstation 7.0 ออกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552) ซึ่งในเมเจอร์เวอร์ชันใหม่ล่าสุดนี้มีคุณสมบัติใหม่หลายอย่าง เช่น รองรับซีพียูแบบ 64-bit capable (EM64T สำหรับซีพียู Intel หรือ AMD64 สำหรับซีพียู AMD) เท่านั้น, เวอร์ชวลแมชชีน (Virtual Machine) สามารถรองรับหน่วยความจำได้สูงสุดถึง 64GB, รองรับ HD Audio device สำหรับระบบปฏิบัติการเกสต์ระบบ Windows และรองรับ USB 3.0 สำหรับระบบปฏิบัติการเกสต์ระบบ Linux เป็นต้น สำหรับรายละเอียดคุณสมบัติใหม่ดูได้จากหัวข้อ คุณสมบัติใหม่ใน VMware Workstation 8.0 ด้านล่าง
แนะนำ VMware Workstation
VMware Workstation เป็นโปรแกรมสำหรับใช้ติดตั้งบนระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์แบบเดสก์ท็อปหรือโฮสต์ (Host) เพื่อจำลองระบบคอมพิวเตอร์หรือในทางเทคนิคเรียกว่าเวอร์ชวลแมชชีน (Virtual Machine) สำหรับระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งบนโฮสต์นั้นจะเรียกว่าระบบปฏิบัติการโฮสต์ (Host OS) และระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งบนเวอร์ชวลแมชชีนจะเรียกว่าระบบปฏิบัติการเกสต์ (Guest OS) โดย VMware Workstation มีให้เลือกใช้งานทั้งเวอร์ชันสำหรับโฮสต์ที่ใช้โฮสต์ Windows และ Linux
VMware Workstation ช่วยให้สามารถรันระบบปฏิบัติการเกสต์หลายตัวบนเครื่องคอมพิวเตอร์ (Physical) เพียงเครื่องเดียว เหมาะกับการใช้งานในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ งานทดสอบโปรแกรม หรือการทดลองด้านเทคนิคต่างๆ เป็นต้น เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยลดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ขององค์กรลง โดย VMware Workstation นั้นได้รับการยกย่องให้เป็นซอฟต์แวร์จำลองระบบคอมพิวเตอร์ (Virtualization) เชิงพาณิชย์ที่ดีที่สุด
การดาวน์โหลด VMware Workstation
เนื่องจาก VMware Workstation นั้นเป็นโปรแกรมเชิงพาณิชย์ที่ต้องซื้อไลเซนส์ในการใช้งาน แต่อย่างไรก็ตามผู้ใช้ทั่วไปสามารถดาวน์โหลดเวอร์ชันทดลองใช้งาน 30 วันได้ที่เว็บไซต์ Download VMware Workstation 8.0 (ต้องลงทะเบียนเพื่อดาวน์โหลด)
คุณสมบัติใหม่ใน VMware Workstation 8.0
ใน VMware Workstation 8.0 มีคุณสมบัติใหม่ดังต่อไปนี้
Installation Changes and Enhanced Keyboards
- VMware Workstation 8.0 ต้องการซีพียูรุ่นใหม่แบบ 64-bit capable ซึ่งมีเทคโนโลยี EM64T สำหรับซีพียู Intel หรือ AMD64 สำหรับซีพียู AMD เท่านั้น และซีพียูจะต้องรองรับ LAHF/SAHF แบบ long mode อีกด้วย
- ไดรเวอร์ keyboard filter จะไม่ถูกทำการติดตั้งโดยดีฟอลท์ ทำให้ไม่สามารถใช้ฟังก์ชันการทำงานคีย์บอร์ดขั้นสูงได้ และผู้ใช้จะต้องกดปุ่ม Ctrl-Alt-Ins แทนการกดปุ่ม Ctrl-Alt-Del ในการส่งคีย์สโตรค Ctrl-Alt-Del ไปยังระบบปฏิบัติการเกสต์บนเวอร์ชวลแมชชีน
Virtual Hardware Improvements
VMware Workstation 8.0 มีการปรับปรุงระบบฮาร์ดแวร์หลายอย่าง แต่การใช้งานคุณสมบัติใหม่เหล่านั้นจะต้องทำการอัพเกรดเวอร์ชันของฮาร์ดแวร์ของเวอร์ชวลแมชชีนหรือทำการสร้างเวอร์ชวลแมชชีนขึ้นใหม่โดยใช้ระบบเวอร์ชวลฮาร์ดแวร์ (Virtual hardware) เวอร์ชันใหม่
- ระบบดิสเพลย์ (Display) ได้รับการปรับปรุงให้ทำงานได้ดีขึ้นทั้งการใช้งานแบบจอเดียวและหลายจอ และยังเพิ่มความสามารถในการต่อโปรเจคเตอร์กับแล็ปท็อปโดยไม่ต้องรีสตาร์ทเวอร์ชวลแมชชีนอีกด้วย
- เวอร์ชวลแมชชีนสามารถรองรับหน่วยความจำได้สูงสุดถึง 64GB
- รองรับ HD Audio device สำหรับระบบปฏิบัติการเกสต์ที่เป็น Windows Vista, Windows 7, Windows 2008, และ Windows 2008 R2 โดย HD Audio device นั้นจะคอมแพตติเบิลกับ RealTek ALC888 7.1 Channel High Definition Audio Codec
- รองรับ USB 3.0 สำหรับระบบปฏิบัติการเกสต์ที่เป็น Linux ที่รัน kernel เวอร์ชัน 2.6.35 หรือใหม่กว่า (Ubuntu 10.10) ผ่านทางคอนโทรลเลอร์ virtual xHCI USB ตัวใหม่
- รองรับการแชร์อุปกรณ์ Bluetooth ระหว่างโฮสต์กับระบบปฏิบัติการเกสต์ระบบ Windows
- สามารถเปิดใช้งานคุณสมบัติ Virtual VT-X/EPT หรือ AMD-V/RVI จากหน้า Processor Settings ซึ่งจะทำให้แอพพลิเคชันที่รันในระบบปฏิบัติการเกสต์สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านเวอร์ชวลไลเซชันเหล่านี้ได้
New User Interface
ระบบอินเทอร์เฟชของ VMware Workstation 8.0 ได้รับการอัพเดท โดยมีการเพิ่มเมนูและแถบเครื่องมือใหม่ และหน้าจอสำหรับตั้งค่าได้รับการปรังปรุงใหม่เช่นกัน
- Favorites sidebar ถูกแทนที่ด้วย Virtual machine library ซึ่งจะแสดงเวอร์ชวลแมชชีนทั้งหมดที่ผู้ใช้ create, open หรือ access
- หน้า Folder summary แบบใหม่ช่วยให้จัดการกลุ่มของเวอร์ชวลแมชชีนทำได้ง่ายขึ้น และ Live thumbnails ทำให้สามารถมองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวอร์ชวลแมชชีนที่กำลังรันอยู่ได้
- แถบเครื่องมือแบบเต็มจอได้รับการอัพเดททำให้สามารถทำงานต่างๆ ได้โดยไม่ต้องออกจากโหมด Full screen
Shared Virtual Machines and AutoStart
- Shared Virtual Machines: VMware Workstation 8.0 สามารถแชร์เวอร์ชวลแมชชีนกับผู้ใช้แบบรีโมทได้ ซึ่งจะทำให้เวอร์ชวลแมชชีนที่ถูกแชร์สามารถเข้าถึงแบบรีโมทจากระบบ VNware Workstation ตัวอื่นได้
- AutoStart: คุณสมบัติ AutoStart สามารถใช้คอนฟิกเวอร์ชวลแมชชีนที่ถูกแชร์เพื่อให้สตาร์ทพร้อมกับระบบโฮสต์ได้ และยังสามารถทำการคอนฟิก AutoStart สำหรับเวอร์ชวลแมชชีนที่ถูกแชร์บนรีโมทโฮสต์ที่รัน Workstation และ ESX 4.x หรือใหม่กว่าได้อีกด้วย
Remote Connections
ใน VMware Workstation 8.0 นั้นสามารถใช้คุณสมบัติใหม่ คือ Connect to Server เพื่อเชื่อมต่อกับโฮสต์ที่รัน Workstation, ESX 4.x หรือใหม่กว่า และ vCenter Server ได้ ซึ่งหลังจากทำการเชื่อมต่อกับโฮสต์สำเร็จแล้ว เวอร์ชวลแมชชีนทั้งหมดที่ผู้เชื่อมต่อได้รับอนุญาตให้เข้าถึงได้จะถูกแสดงใน Virtual machine library
Upload to vSphere
ใน VMware Workstation 8.0 นั้นเครื่องมือ VMware OVF Tool จะอินทิเกรทกับ Workstation ทำให้สามารถอัพโหลดเวอร์ชวลแมชชีนจาก Workstation ไปยังรีโมทเซิร์ฟเวอร์ที่รัน ESX, ESXi หรือ vCenter Server ได้โดยการลากเวอร์ชวลแมชชีนจากหัวข้อ My Computer ของ Virtual machine library บนเครื่องโลคอล ไปยังรีโมทเซิร์ฟเวอร์ได้
นอกจากนี้ ใน VMware Workstation 8.0 จะไม่มีคุณสมบัติทีม (Teams) อีกต่อไป และยังมีการเปลี่ยนรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารประกอบ (Documentation) อีกด้วย สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์ VMware Workstation Documentation
บทความโดย: Thai Windows Administrator Blog
Copyright © 2011 TWA Blog. All Rights Reserved.
No comments:
Post a Comment
เชิญแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขอสงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ข้อความ HTML